เอื้องช้างน้าว Dendrobium pulchellum

 

 

 

 

ภาพ ช้างน้าว ดอกโทนสีออกแดง ที่สวนชิเนนทร
      ช้างน้าว หรือ เอื้องช้างน้าว เป็นกล้วยไม้ทนร้อนกลุ่ม Dendrobium หรือ หวาย ของบ้านเรานี่เองครับ ในพื้นที่ตามชนบทหรือพื้นที่ราบเขา หรือ ป่าแล้ง เรามักพบ ช้างน้าว ขึ้นเกาะอยู่ต้นไม้สูง แต่พิเศษไปกว่ากล้วยไม้สกุลหวายอื่น ๆ เรายังพบว่า ช้างน้าว ยังสามารถขึ้นเกาะบนผาหินสูงชันได้อีกด้วย !
     ลักษณะแสนพิเศษของ ช้างน้าว คือมีลำที่ยาวยื่นทอดออกไป ลำของ ช้างน้าว จะไม่ห้อยลงเหมือนกับเอื้องสายชนิดอื่น ๆ กลับกัน ช้างน้าว จะให้ลำที่แข็งทื่อ โน้มเอียงไม่เป็นสายคล้ายกับกิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่มีใบทรงรีสลับซ้ายขวาเรียงตัวจนสุดลำ หน่อที่กำลังแตกใหม่ที่เราได้เห็นในปีนี้จะยังไม่ให้ดอกจนกว่าจะถึงปีถัดไป เมื่อหน่อแก่ตัวได้ที่กลายเป็นลำก้านที่ทอดยาวออกไปราวคันเบ็ด ช้างน้าว จะเริ่มทิ้งใบในช่วงต้นปี และอาจพักตัวอยู่ราว ๆ ๑-๒ เดือน หลังจากนั้น ช้างน้าว จะเริ่มแทงตาดอกในราว ๆ ช่วงเดือน กุมภาพันธุ์ - พฤษภาคม ดอกของ ช้างน้าว จะแทงออกในส่วนของปลายยอดสุดของลำลูกกล้วย ใน ๑ ลำ หาก ช้างน้าว มีลำต้นที่สมบูรณ์แล้วละก็มันสามารถให้ดอกได้มากถึง ๔ ช่อ ในขณะที่ปกติจะสามารถให้ดอกได้ราว ๆ ๑ - ๒ ช่อ ดอกของ ช้างน้าว มีลักษณะเป็นสายยาวลงมาจากปลายยอด มองคล้ายกับสายเบ็ดที่ร้อยตัวลงมาจากคานเบ็ดไม่ผิดเพี้ยน ขนาดของดอก ช้างน้าว มีขนาดใหญ่ พื้นดอกมีสีเหลืองอ่อน บางครั้งก็พบว่ามีสีแดงในบางต้น บนปากดอกนั้น ช้างน้าว จะมีตาสีดำที่กลมใหญ่เด่นแปลกตาและสวยงาม
ภาพ ลักษณะการแทงช่อ และช่อดอกของ ช้างน้าว
     ในวิทยาศาสตร์ ช้างน้าว มีชื่อว่า Dendrobium pulchellum และมันยังถูกเรียกอีกหลาย ๆ ชื่อในบ้านเราอีกด้วยครับ อาทิเช่น เอื้องคำตาควาย เอื้องตาควาย สบเป็ด และยังมีชื่อพิลึก ๆ ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินอีกเช่น ปะเหน่มีเพ้ย พอมียอเอ้ะ หากให้เดาละก็สองชื่อหลังนี้คงได้รับการแต่งจากชนชาวเขาอย่างแน่นอนเชียวครับ !
     ด้วยลักษณะที่ทนร้อนพิเศษนี้ ช้างน้าว ยังได้เป็นกล้วยไม้อีกชนิดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาเนิ่นนาน หนึ่งในลูกผสมของ ช้างน้าว ที่ได้รับความนิยมก็คือ Dendrobium Gatton Sunray (เดน-โดร-เบียม-แกต-ตัน-ซัน-เรย์) มันเป็นลูกผสมสีเหลืองสดใสตตาดำเด่นและมีดอกขนาดใหญ่ พ่อแม่ของไม้ชนิดนี้มาจาก เอื้องช้างน้าว หรือเอื้องตาควาย (Dendrobium pulchellum) เข้ากับ Dendrobium Illustra ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง เอื้องคำ ผสมเข้ากับ ช้างน้าว(Den. chrysotoxum x Den. pulchellum) นับได้ว่าเป็นไม้ที่ทำซ้อนกันถึง ๒ ชั้นเลยทีเดียวครับ


ภาพดอกของ Dendrobium Gatton Sunray ลูกผสมระหว่าง ช้างน้าว x Dendrobium Illustra

วิธีปลูกเลี้ยง ช้างน้าว
     ช้างน้าว เป็นกล้วยไม้เลี้ยงง่ายมากครับ และเป็นกล้วยไม้ที่ทนร้อนเก่งมากซะด้วย เราสามารถเลี้ยงเจ้า ช้างน้าว ให้มีดอกสวยงามได้ดังนี้
๑. นำกาบมะพร้าวที่ผ่านการแช่น้ำไว้แล้วอย่างน้อย ๒-๓ คืน มาเตรียมไว้ครับ ต้องแช่น้ำก่อนนะครับ ถ้าไม่แช่ กล้วยไม้จะโตช้า
๒. ถ้าเป็นไม้ดิบ ให้นำกาบมะพร้าวทุบให้เป็นแผ่น วางรองระหว่างขอนไม้กับ ช้างน้าว ที่เตรียมปลูก กาบมะพร้าวที่ชื้นได้ที่จะช่วยให้รากของช้างน้าวเดินไวขึ้น
๓. นำไปแขวนไว้ในที่ที่มีแสงส่องถึงอย่าร่มรำไรมากเกินไปเพราะอาจจะเน่าตายได้
๔. หากปลูกในกระถาง ให้นำถ่านกลบพื้นกระถางสักครึ่งหนึ่งก่อน แล้วค่อยนำมะพร้าวสับกลบทับลงไป หลังจากนั้นใช้กาบมะพร้าววางล้องรอบขอบกระถาง นำต้น ช้างน้าว ที่เตรียมไว้ ตั้งไว้ตรงกลาง แล้วค่อย ๆ กลบรากด้วยมะพร้าวสับชื้นเล็ก
***ระวัง อย่ากลบจนมิดโคนไม่เช่นนั้น ช้างน้าว จะเน่าได้ เอาพอบาง ๆ และจับช้างน้าวตั้งให้ได้ด้วยการหาไม้มาค้ำหรือลวดพยุง***
๕. หากเป็นไม้เพาะเลี้ยงจากฟาร์ม ให้ใช้มะพร้าวตุ้ม หุ้มราก แล้วใส่กระเช้ากลมได้เลยครับ


ภาพ ช้างน้าว เผือก
     เมื่อรากช้างน้าวเริ่มเดินดี ควรเริ่มขยับ ช้างน้าว ให้ได้แสงมากขึ้น แสงจะเป็นปัจจัยช่วยให้ ช้างน้าว มีดอกตามฤดูกาลครับ และเพื่อที่จะได้เห็นดอกของ ช้างน้าว อย่างสมบูรณ์ที่สุด เราควรหมั่นพ่นปุ๋ยเกล็ดอย่างสม่ำเสมอ ทางสวนออร์คิดทรอปิคอล เรามักใช้สูตรปุ๋ยเสมอเช่น ๒๑-๒๑-๒๑ เป้นต้นครับ ระวังอย่ารดน้ำตอนสายมากเพราะน้ำที่ไปขังตามกาบใบอาจทำให้ ช้างน้าว เน่าได้ ยอดใหม่ของช้างน้างค่อนข้างบอบบาง ให้พึงระวังเป็นอย่างยื่งครับ หากรดน้ำสายและน้ำไปขังในยอดใหม่ เมื่อแสงแดดจัด ๆ อาจทำให้ยอดเน่าได้เลยครับ และเมื่อยอดเน่าเราก็จะอดดูดอกในปีต่อไปนั่นเอง !

ขอบคุณข้อมูลจาก

 http://www.orchidtropical.com/dendrobium_pulchellum.php

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  18,791
Today:  5
PageView/Month:  80

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com